ลองเล่น Master Stand Base – 2217
By “Gold Lighton”
grreview@hotmail.com
ขึ้นชื่อยี่ห้อมาอย่างนี้ นักเล่นเครื่องเสียงที่อ่านเฉพาะหนังสือเครื่องเสียงรายเดือน คงจะไม่คุ้นหูนัก แต่ถ้าเป็นนักเล่นที่คุ้นเคยกับการท่องเวปฯเครื่องเสียงคงจะคุ้นเคยเป็นอย่างดี ยิ่งถ้าเรียกกันภาษาชาวบ้านว่า “ตั้มแสตนด์” ก็จะต้องร้อง ‘อ๋อ’ กันเป็นแถว
ชื่อ “Master Stand” ของตั้มแสตนด์นั้นกำเนิดจากแนวคิดของเด็กนักศึกษาคนหนึ่งที่เริ่มหัดเล่นเครื่องเสียง แต่ด้วยความที่จำกัดด้วยงบประมาณ จึงพยายามหาช่องทางที่สามารถติดต่อโรงงานเหล็กเพื่อประกอบขาตั้งลำโพงขึ้นมาใช้งานเอง แต่เพราะผลงานที่ออกมาค่อนข้างดูดีและมีคุณภาพสมราคา จุดกำเนิดของขาตั้งยี่ห้อ Master Stand จึงถูกเริ่มต้นขึ้นอย่างไม่ได้ตั้งใจ
ในช่วงแรก อุปกรณ์ชั้นวางและขาตั้งลำโพงที่ Master Stand ออกแบบมาจำหน่ายนั้น จะเน้นไปรองรับทางระบบโฮมเธียเตอร์เป็นส่วนใหญ่ โดยมีทั้งขาตั้งลำโพงและชั้นวางเครื่องเสียงราคาประหยัดเป็นตัวชูโรง แต่ช่วงหลังที่ผ่านนี้คงจะมาทนเสียงเรียกร้องจากมิตรรักแฟนเครื่องเสียงไม่ไหว ด้วยว่ามีความต้องการชั้นวางสำหรับหมวดออดิโอเพียวๆสักรุ่น ราวหกเดือนให้หลังผลลัพธ์จึงออกมาเป็นชั้นวาง Master Stands Base – 2217 ชั้นวางสำหรับเครื่องเสียงระดับเริ่มต้นถึงระดับกลางที่น่าสนใจมากตัวหนึ่ง
คุณสมบัติจำเพาะ
ขนาดหน้า กว้าง 22 นิ้ว, ลึก 17 นิ้ว สามารถใช้งานกับเพาเวอร์แอมป์ระดับกลางๆได้สบาย รองรับน้ำหนักได้มากถึง 50 กก.
ใช้เหล็กต่างจากประเทศราคาสูงจริง คุณภาพสูงจริง
สไปค์ทองเหลืองปรับเกลียวเกรดจากต่างประเทศ เนื้อแน่น แกร่ง รับน้ำหนักได้สูง
แผ่นเพลทใช้ไม้ MDF หนา 15 มม. เกรดดี
รายละเอียดอื่น (สอบถามโดยตรงที่ผู้จัดจำหน่าย)
ติดต่อ HiFiForYou
ตั้ม Stand
โทร 081-621-8484
Website www.hififoryou.com
ราคาประมาณ 2,900 บาท (1ชั้น)
สำหรับการลองเล่นชั้นวางเครื่องเสียง วิธีการลองฟังตลอดจนถึงกระบวนการวัดผลทางเสียงย่อมเป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลามากกว่าการลองเครื่องหลักหลายเท่าตัว นั่นก็เพราะชั้นวางชั้นหนึ่งสามารถใช้รองรับเครื่องได้หลายชนิดและน้ำหนัก การลองเล่นจึงไม่ใช่แค่ใช้งานกับอุปกรณ์เครื่องเสียงเพียงชิ้นเดียวแล้วเขียนความต่างลงไปในกระดาษประเภทฟังวันเดียวจบ
หากแต่เป็นการลองแบบกึ่งจริงจัง ทั้งใช้งานตามสภาพจริงในห้องธรรมดา แล้วยังต้องวัดผลในห้องฟังอีกขั้น ลองกับเครื่องหนึ่งแล้วจดบันทึก แล้วย้ายมาลองกับเครื่องอีกชนิดหนึ่ง เพื่อจับประเด็นความแตกต่าง อะไรที่เป็นบุคลิกของเครื่อง อะไรเป็นเนื้อแท้ของชั้นวางตัวนั้น ต้องแยกแยะให้ออก
บางครั้งไม่แน่ใจก็ต้องสลับเครื่องแล้วฟังเปรียบเทียบกันตรงๆ พิเคราะห์เฉพาะส่วนที่สงสัย ทำอย่างนี้ซ้ำไปซ้ำมาจนมั่นใจว่าอะไรคือ ”สิ่งที่คงเหลืออยู่” อะไรคือ “สิ่งที่เปลี่ยนแปลงไปตามการเปลี่ยนเครื่องเสียง”
งานนี้เปลี่ยนคอนเซ็ปท์เป็น “ลองทีเล่นทีจริง” ก็แล้วกัน
อืม … หรือจะเป็น “ลองเล่นที ลองจริงที” ดี ?
เอาเป็นว่างานนี้ผู้เขียนจึงลองครบให้หมดเสียในครั้งเดียวเลย จะได้ไม่ต้องเสียอารมณ์ท่านผู้อ่านที่รัก เริ่มจากเครื่องเล่นซีดี, ปรีแอมป์, เพาเวอร์แอมป์, ตลอดจนอินทีเกรตแอมป์ ท้ายสุดยังใช้รองรับเอ/วี รีซีฟเวอร์ตัวเขื่อง (Marantz SR-18 ที่มีน้ำหนักตัวราว 23 กิโลกรัม) และยังกดทับด้วย Hi-Fi Brick อีกหนึ่งก้อนด้วยกัน (ก้อนหนึ่งหนัก 5 กิโลกรัม) ผลลัพธ์ในแง่ความแข็งแรง ก็ดูน่าพึงพอใจไม่น้อย
เพราะมันไม่สะทกสะท้านเลยแม้แต่น้อย เหมือนกับจะบอกเป็นนัยว่า “หนักกว่านี้ก็ยังไหวครับพี่ อย่างผมไม่เกี่ยงน้ำหนักอยู่แล้วครับ”
Master Stand Base – 2217 สามารถรับมือเครื่องหลายรายการที่กล่าวถึงอย่างไม่มีข้อสงสัย ที่สำคัญคือ ผลลัพธ์โดยรวมสามารถยกระดับคุณภาพเสียงให้รับรู้ถึงความแตกต่างระหว่างการใช้งานกับไม่ใช้งานอย่างชัดเจน
ชั้นวาง Master Stand Base – 2217 ออกแบบเป็นชั้นเดี่ยววางพื้นโดยตรง ไม่สามารถต่อยอดวางซ้อนกันได้อย่างชั้นวางรุ่นอื่นที่ออกแบบมาเผื่อใช้งานในระบบโฮมเธียเตอร์ การจะใช้งานจึงควรพิจารณาเรื่องพื้นที่การจัดวางด้วยว่ามีพื้นที่เพียงพอหรือไม่ แต่ทั้งหมดแลกมาด้วยข้อดีสองข้อ
ข้อแรก ความมั่นคง นิ่ง ในการจัดวางระดับสูงสุด
ข้อสอง อิสระต่อการรบกวน ระหว่างเครื่องต่อเครื่อง รวมถึงเส้นสายต่างๆ
ยังไม่รวมถึงความอิสระต่อในการใช้งานอุปกรณ์เสริมต่างๆโดยปราศจากการรบกวนระหว่างเครื่อง ทำให้ผลลัพธ์ทางเสียงเปล่งประสิทธิภาพขึ้นไปอีกระดับ
พูดเป็นเล่นไป ชั้นวางเครื่องเสียงที่ดีก็แค่แข็งแรงมั่นคงก็พอแล้วไม่ใช่เหรอ มันจะไปช่วยเรื่องน้ำเสียงได้อย่างไรไง ?
เป็นความจริงครับ, ถ้าจะอิงไปตามทฤษฎีวัดผลอย่างเดียว คงจะไม่แปลก ผลต่างในแง่ของตัวเลขคงดูไม่มากมายหรือทัดเทียมกับอุปกรณ์ประเภทเส้นสายต่างๆ และอาจจะดูน้อยไปด้วยสำหรับจำนวนเงินที่จ่ายออกไป
แต่การเล่นเครื่องเสียงในนิยามของผู้เขียน มีนัยยะของการผสมผสานศาสตร์และศิลป์ไว้ให้กลมกลืนเป็นเนื้อหาเดียวกัน เช่นความไพเราะ, ความเป็นดนตรี จำพวกนี้จะวัดจากเครื่องมือชนิดไหน หากไม่ใช้หูสองใบของคนเรา
ที่ยากไปกว่านั้นคือ หูของคน มีนิยามความชอบ, ความไพเราะ, ความเป็นดนตรี แตกต่างกันไปตามรสนิยม ซึ่งเป็นเรื่องของปัจเจกบุคคลอีกชั้นหนึ่ง การสื่อสารเรื่องเสียงซึ่งนับเป็นนามธรรม ผ่านทางตัวหนังสือซึ่งค่อนข้างมีความเป็นรูปธรรมสูง จึงดูเป็นเรื่องซับซ้อนและละเอียดอ่อนจนบางครั้งเกิดความเข้าใจที่หมิ่นเหม่เกินเลย
อุปกรณ์เสริมทั้งหลายในวงการจึงถูกมองเป็น “ไสยศาสตร์” มากกว่าจะเป็น “วิทยาศาสตร์” ทั้งที่ในอีกมิติหนึ่งมันก็สามารถนิยามได้ว่าเป็น ” วิทยาศาสตร์ที่ยังไม่มีทฤษฎีมารองรับเป็นรูปธรรม” ซึ่งแง่มุมนี้ดูจะเหมาะสมกว่า
เอาเป็นว่าผู้เขียนเสนอไว้พอให้ท่านผู้อ่านที่เคารพทุกท่านได้ลองขบคิดพิจารณาดู ไม่ได้มีเจตนาที่จะโน้มน้าวให้เปลี่ยนแปลงความเชื่อส่วนบุคคลแต่อย่างใดนะครับ
มาที่เรื่องเสียงของชั้นวางกันต่อ
ในเมื่อผู้เขียนมีแนวคิดดังเช่นที่เรียนไว้ข้อความข้างต้น คุณภาพเสียงจากชั้นวาง Master Stands Base – 2217 จึงมีผลต่างทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพเสียงอย่างแน่นอน
คุณสมบัติที่เด่นมากของชั้นวางตัวนี้คือสามารถควบคุมดุลเสียงทั้งสามย่านหลักได้อย่างกลมกลืนสวยงาม มีสมดุลที่ดี ไม่มีย่านใดเด่นล้ำหน้าเกินเลย นอกจากนี้สุ้มเสียงทั้งหมด ยังมีเนื้อเสียงที่นุ่มนวลพอประมาณ แต่ให้โฟกัสที่คมชัด กระชับแน่น ช่วยให้การเว้นช่องว่างระหว่างตัวโน้ตเด่นชัดขึ้นโดยไม่ลดทอนหางเสียงให้เก็บตัวเร็วจนรู้สึกว่าเสียงแห้งหรือขาดบรรยากาศ
ทั้งนี้มันยังช่วยเผยให้เห็นขนาดและรูปทรงของเวทีที่รองรับเสียงต่างๆอีกชั้นหนึ่งให้รับรู้จับต้องได้อย่างง่ายดาย ขอบเขตอาณาบริเวณในแต่ละแผ่นแต่ละบทเพลง แม้ความแตกต่างของสัดส่วนเพียงเล็กน้อย ก็สามารถจับใจความและระบุความแตกต่างนั้นๆได้ทันท่วงที
ไม่ว่าจะเป็นแนวเพลงขับร้องที่ดูคล้ายกับว่านักร้องศิลปินแต่ละท่านมีกำลังวังชาเพิ่มขึ้น ช่วยส่งเสริมให้ได้ยินรายละเอียดเล็กๆน้อยๆในระดับความดังที่แผ่วเบาให้คงเส้นคงวา ควบคุมการตอบสนองระดับความดังสูงไม่ให้แสดงอาการแผดกร้าวหรือเครียดล้ายามดนตรีโหมกระหน่ำ มีจังหวะจะโคนตอบสนองแม่นยำ คุณสมบัติดังกล่าวยิ่งเด่นชัดเมื่อฟังกับแนวเพลงเน้นจังหวะ หรือประเภทแผ่นโชว์เพอร์คัสชั่นด้วยแล้ว, ยิ่งเร้าใจขึ้นไปอีกระดับ
อีกแง่มุมหนึ่งสำหรับการใช้งานในระบบโฮมเธียร์เตอร์ นอกจากสุ้มเสียงที่นุ่มนวลกระชับแน่น และได้โฟกัสตำแหน่งกำเนิดเสียงอย่างแม่นยำราวจับวาง มันยังช่วยให้ขยายสนามเสียงทั้งหมดที่เปล่งออกจากลำโพงให้สอดประสานกันเป็นระบบมากขึ้น เสมือนว่าลำโพงทั้งระบบได้อันตรธานไปจากห้อง
แม้เทียบกับชั้นวางระดับดาวค้างฟ้าบางตัวไม่ได้ แต่ในระดับราคานี้ มันคือตัวเลือกอันดับต้นๆที่ควรพิจารณา
แสดงว่าชั้นวางตัวอื่นเสียงสู้ไม่ได้?
มิได้ครับ, ชั้นวางเครื่องแต่ละตัว ต่างมีแนวทางการออกแบบและจุดประสงค์ในการใช้งานเป็นของตัวเอง แต่ละรุ่นแต่ละยี่ห้อต่างมีคุณสมบัติทางเสียงแตกต่างกันไป เพียงแต่ในแนวทางดังที่กล่าวมาข้างต้น ชั้นวาง Master Stands Base – 2217 ตัวนี้มันตอบโจทย์ได้ตรงประเด็นกว่า ผู้เขียนเคยฟังชั้นวางเครืองที่มีรูปทรงแข็งแรงบึกบึนกว่า รูปร่างหน้าตาดูมีภาษีกว่า เรียกว่าจับชั้นวางสองตัวนี้มาวางคู่กันโดยไม่ต้องฟังเสียง เกินกว่าครึ่งต้องเลือกตัวหลักอย่างไม่ต้องโน้มน้าว
แต่เพราะเหตุผลกลใดไม่ทราบ เมื่อนำมาใช้งานรองรับอุปกรณ์เครื่องเสียง ผลลัพธ์กลับตาลปัตรกันโดยสิ้นเชิง สุ้มเสียงของชั้นดังกล่าว กลับออกไปทางแข็งกระด้าง บอบบาง ตึงตัว เนื้อเสียงหยาบ และเน้นให้ชัดเข้มเป็นจุดๆ ขาดความนุ่มนวลและความต่อเนื่อง ฟังแรกๆตื่นเต้น พอนานเข้ากลับน่าเบื่อ ไร้ชีวติชีวา
ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อ เมื่อสลับกลับมาวางชั้น Master Stand Base – 2217 สิ่งที่หายไปในชั้นอีกตัว กลับถูกเติมเต็มในชั้นวางหน้าตาเชยๆตัวนี้อย่างไม่ต้องสงสัยหูตัวเอง ไม่ว่าจะลองในเงื่อนไขใดก็ตามผลที่ได้ก็ออกมาในทำนองนี้เสมอ, ชั้นวางสวยแต่รูปจูบไม่หอมอย่างนี้ ฟังแล้วก็ได้แต่ถอนหายใจ เพราะ ”หมดมุกจะลองเล่น” จริงๆครับ
ชนิดของเครื่องที่เหมาะสมล่ะ ?
เช่นที่เรียนไว้ข้างต้นว่าผู้เขียนใช้ร่วมกับเครื่องหลายประเภท แม้ไม่หลากยี่ห้อแต่ก็เพียงพอต่อการวัดผลในเชิงลองเล่น ในที่นี้ เครื่องเล่นซีดีและเพาเวอร์แอมป์ดูจะให้ผลลัพธ์ที่น่าพึงพอใจชัดเจน ที่ได้คะแนนรองลงมาเล็กน้อยคือปรีแอมป์ ซึ่งท่านผู้อ่านก็สามารถเลือกใช้เพื่อให้ผลของชั้นวางได้ตามสะดวก มีมากอยู่แล้วก็ใช้กับเครื่องที่ส่งผลน้อย มีน้อยก็ใช้กับเครื่องที่ส่งผลมาก
อย่างน้อยที่สุด การมีชั้นวางที่ดีคุ้มราคาสักชั้นไว้ใช้งานในชุดเครื่องเสียงอันเป็นที่รัก ก็เปรียบเหมือนก้าวแรกสู่วงการอุปกรณ์เสริมที่คุ้มค่ากับน้ำพักน้ำแรงที่จ่ายออกไป
อ๊ะๆ อย่าเพิ่งจบ ยังไม่รู้เลยว่าแล้วต้องชุดระดับไหนจึงจะเหมาะ ?
เกือบลืมไป…เท่าที่ผู้เขียนลองใช้งาน Master Stand Base – 2217 กับเครื่องเล่นดีวีดีราคาพันกว่าบาท มันก็สำแดงผลงานออกมาได้สมน้ำสมเนื้อ แม้จะดูไม่คุ้มค่าเท่าใดนักเพราะราคาชั้นวางสูงกว่าราคาเครื่องเล่น
ฉะนั้นแล้ว แหล่งโปรแกรมระดับหลักหมื่นต้นๆขึ้นไปจึงดูจะเป็นเหตุเป็นผลที่เหมาะสมกว่าในการเลือกใช้งาน เพราะเนื้องานที่ถ่ายทอดออกมากับราคาที่จ่ายออกไป ดูจะสมราคาค่าตัวมากกว่า สำหรับท่านผู้อ่านที่เล่นชุดฟังเพลงโดยใช้อินทีเกรตแอมป์ในระดับราคาไม่เกินห้าหกหมื่นบาทเป็นขุมพลัง ชั้นวางตัวนี้ดูจะเข้าขากับเครื่องระดับนี้เป็นพิเศษ
ยิ่งเป็นเอ/วี รีซีฟเวอร์ทั้งหลาย ในเรทราคาเดียวกัน ยิ่งจะช่วยเสริมศักยภาพในด้านไดนามิกของเครื่องๆนั้นให้โจนทะยานขึ้นไปอีกหลายส่วน
เหมือนเพิ่มกำลังขับขึ้นอีกสิบ-ยี่สิบวัตต์ ประมาณนั้นเลยครับ!