แท่นรอง
Master Stand Base : 2217
By การุณชาติ พุกกะเวส
www.audio-teams.com
ผมเชื่อว่าทุกคนที่เล่นเครื่องเสียง เมื่อเล่นไปสักพัก หลังจากนั้นอาจจะพบทางแยกให้เลือกอยู่ 3 ทาง คือ
- เป็นนักเล่นต่อไป
- เป็นนักทดสอบเครื่องเสียง
- เป็นพ่อค้าขายเครื่องเสียง
ซึ่งใครจะเลือกเดินทางใด ก็ต้องสุดแท้แต่ละบุคคล อย่างผม เลือกที่จะมาเป็นนักทดสอบเครื่องเสียง ซึ่งมันก็มีสุขทุกข์คนละแบบที่ต่างจากการเป็นนักเล่น
แต่มีเด็กหนุ่มนักเล่นท่านหนึ่ง มีงบประมาณจำกัด เขาจึงติดต่อร้านเหล็กเพื่อทำขาตั้งขึ้นใช้เอง ทำให้เป็นจุดกำเนิดสินค้าขึ้นมายี่ห้อหนึ่งโดยไม่ตั้งใจ และเมื่อเขาเลือกเดินทางมาเป็นพ่อค้า ส่วนอุปกรณ์ที่ขายคือ “อุปกรณ์เสริม” จำพวกชั้นวางเครื่อง ขาตั้งลำโพง เป็นหลัก ไม่ใช่ตัวเครื่องเล่นหลัก
แน่นอนครับ ว่าหนทางไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ แม้จะเป็นการทำอุปกรณ์เสริมมาขาย แต่มันไม่ง่ายก็ตัดเหล็กเป็นท่อน เชื่อมเหล็กเข้าด้วยกัน แล้วก็วางขาย ของอย่างนี้ต้องมีเคล็ดลับที่ต้องมาจากการลองผิดลองถูก ค่อย ๆ ปรับจูนเสียงกันไป ว่าจะประกอบวิธีใด ใช้เหล็กเบอร์ใด เชื่อมแบบใดที่จะทำให้ได้มาซึ่งชิ้นงานที่แข็งแรง มั่นคง และมีคุณภาพเสียงที่ดี ซึ่งประเด็นหลังนั้น สำคัญมาก บ่อยครั้งพบว่ารูปทรงสวยงาม แต่คุณภาพเสียง “ไม่สวยงาม” ดั่งรูปทรง
โชคดีตรงที่เขามาถูกทาง มีนักวิจารณ์ระดับแนวหน้า คือ “คุณเด็กวัด” ช่วยคิดค้น และออกแบบ พร้อมดีไซน์ จึงทำชิ้นงานนี้ขึ้นมาเป็นรูปเป็นร่าง และมีการลองฟังเป็นระยะเพื่อช่วยจูนเสียงจนลงตัว
เมื่อมาถึงบรรทัดนี้ หากท่านไม่ได้เล่นเว๊บเครื่องเสียง อาจจะงง ๆ ว่าผมกำลังหมายถึงใคร แต่ถ้าเล่นเว๊บด้วย น่าจะพอเดาออกว่าใครคือบุคคลดังกล่าว
ไม่ต้องคาดเดาให้เสียเวลา เพราะผมกำลังจะบอกคำตอบให้ ณ บัดนี้ นั่นคือ Master Stand ยังงงกันอีกใช่ไหมครับ เพราะชื่อที่เป็นทางการ คนไม่ค่อยคุ้น แต่ถ้าบอกว่าเป็นยี่ห้อ “ตั้มสแตนท์” ผมเชื่อว่า ต้องร้อง อ๋อ..กันเป็นแถว
และที่จะเขียนถึงในครั้งนี้เป็น “ชั้นวางเครื่องเสียง” ที่เป็นแบบชั้นเดียว ต่อซ้อนกันไม่ได้ เหมาะกับผู้ที่ต้องการเอาจริงเอาจังในระดับหนึ่ง ในซิสเต็มอาจใช้ 2-3 อัน เพื่อวางแหล่งโปรแกรม, ปรี-เพาเวอร์ เป็นต้น มีชื่อเป็นทางการว่า Master Stand Base : 2217
ซึ่งตัวเลขห้อยท้ายดังกล่าวจะหมายถึงรหัสลับใด ๆ รบกวนสอบถามจากผู้ผลิตโดยตรงครับ
คุณสมบัติพิเศษ
– วัสดุนำเข้าจากต่างประเทศ
– โครงสร้างเป็นเหล็ก คัดเกรด
– พ่นด้วยสีฝุ่น อบด้วยอุณหภูมิ 300 องศา
– เชื่อมด้วยระบบอาร์กอน
– วัสดุรองเครื่องเป็นไม้ MDF เกรด A
– พ่นสีไม้แบบสีดำด้าน ด้วยสีพ่นรถยนต์
– ดีไซน์เป็นแบบชั้นเดียว
– สไปค์ (เดือยแหลม) กลึงด้วยเครื่อง CNC ทำให้มีความเที่ยงตรงสูง
– เก็บรอยเชื่อมเรียบร้อย
ลักษณะทั่วไป
แท่นรอง Master Stand Base : 2217 โครงสร้างเป็นเหล็ก คัดเกรด รูปทรงสี่เหลี่ยม ภายในกลวง สามารถถอดได้เป็น 4 ชิ้น ซึ่งเมื่อประกอบขึ้นโครงจะยึดเข้าที่ด้านข้างด้วยน๊อตทองเหลืองกลึง (วัสดุจากต่างประเทศ) กลายเป็นทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้า ตรงกลางโปร่ง
ที่ขามุมทั้ง 4 จะทำเป็นแท่งเหล็กกลมแนวตั้ง ด้านใต้เชื่อมด้วยระบบอาร์กอนเพื่อยึดแผ่นเหล็กที่เจาะรูตรงกลาง เพื่อใส่สไปค์ ส่วนด้านบนปิดด้วยโลหะทรงกลมชุบทอง
ตัวโครงเหล็ก มีการเจาะรูเพื่อใส่สไปค์ (เอาด้านแหลมชี้ขึ้นฟ้า) เพื่อให้รองรับแผ่นไม้ได้นิ่งสนิท
แท่นรอง Master Stand Base : 2217 ราคา 3,000 บาท ผลิต และจัดจำหน่ายโดย คุณตั้ม โทร. 081-621-8484 หากต้องการรายละเอียดเพิ่มเติม คลิ๊กเข้าดูได้ที่ www.hififoryou.com ครับ
สเปคของแท่นรอง Master Stand Base : 2217
– แผ่นไม้หนา 15 มิลลิเมตร
– ความกว้างของไม้ 56×44 เซนติเมตร
– สูงทั้งหมด 12 เซนติเมตร
– เสาด้านนอกขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 1.5 นิ้ว
อุปกรณ์ที่ใช้ทดลอง
เครื่องเล่นดีวีดีมีหลายเครื่องดังนี้ Denon DVD-1920 / Sony : DVP-NS92V / Soken DV-891 และเครื่องที่ใช้ประจำ Aconatic AN-2130 (M) ทุกตัววางบนแท่นรอง Master Stands Base : 2217
โปรเจคเตอร์ Infocus In76 / BenQ W100 / Panasonic : PT-AE100E วางบนชั้นวาง Target ชั้นที่ 4 สายไฟเอซี Monster Cable : PowerLine 300 (ประกอบนอก) มีกล่อง Wood Block คั่น
สาย HDMI ของ Monster Cable : HDMI 800 / HDMI 400, Kimber Kable สาย DVI ของ Monster Cable : M500DVI อแดปเตอร์แปลงหัวของ Monster : 400 และสาย Component เป็น AV-Zone : VCS Master
จอไวด์สกรีนยี่ห้อ Vertex ขนาด 78 นิ้ว (16:9) พร้อมคาดแถบสีดำตัดขอบทั้ง 4 ด้าน
สายดิจิตอลแบบ Coaxial ของ Nordost : Silver Screen (RCA), Kimber Kable : DV-75 (RCA), Acoustic Zen : MC2 (RCA), Acoustic Zen : Silverbyte (RCA), MIT : Digital Reference (RCA), Monster : Ultra 1000 (RCA) ร้อยผ่านท่อ Floaters
เอ/วี รีซีฟเวอร์ใช้เฉพาะภาคปรี Yamaha : RX-V2600 อุดช่อง RCA ที่ไม่ใช้ด้วยปลั๊ก Isoclean, Marantz : SR-7300 รองใต้ขาด้วย Vibrapod เบอร์ 3 จำนวน 4 ลูก อุดช่อง RCA ที่ไม่ใช้ด้วย Cardas : RCA Caps วางบนแท่นรอง Audio Arts : Trisolater สายไฟเอซี AudioQuest : NRG-2 (หัว Hubble 8656E / ท้าย Schurter)
สายสัญญาณคู่หน้า Monster : Sigma Retro, M1000i (RCA) แยกสายด้วยแท่งยาง Hi-Fi Trick
สายสัญญาณลำโพงเซ็นเตอร์ Monster : M850i (RCA) แยกสายด้วยแท่งยาง Hi-Fi Trick
เพาเวอร์แอมป์ขับลำโพงคู่หน้า Roksan : Caspian (Monoblock) สายไฟเอซี Monster Cable : PowerLine 300 (ประกอบนอก) วางบนชั้น Audio Arts : Classic II เสียบเข้า Wattgate 381 (ตัวที่สอง-ช่องที่ 1 และ 2)
เพาเวอร์แอมป์ขับลำโพงเซ็นเตอร์ Roksan : Caspian (สเตอริโอ) สลับกับ NAD 208 THX (M) โมดิฟายแจ๊ค RCA หลังเครื่องเป็น Monster RCA สายต่อจากแผงวงจรไปท้าย RCA ภายในเป็นสายโมดิฟาย Cardas รุ่นเล็ก ส่วนสายจากภาคขยายไปแผงขั้วต่อลำโพงเป็นสายโมดิฟาย Cardas รุ่นใหญ่ สายลำโพงภายในเป็น Kimber Kable 4TC ขั้วต่อลำโพงดัดแปลงเป็นแบบใหญ่ สีขาวขุ่น หลังเครื่องทับด้วยอิฐ VPI : db-5 สายไฟเอซี Hovland : Main Line (หัว Marinco ใส / ท้าย Wattgate 320 ใส) วางบนแท่นรอง Master Stands Base : 2217
สายไวริ่งระหว่าง Wattgate 381 ทั้ง 2 ตัวเป็น Supra Lorad
ลำโพง Sonus Faber คู่หน้า Concerto Home วางบนขาตั้ง JM Lab : L60 สูง 24 นิ้ว ลำโพงเซ็นเตอร์ Solo Home วางบนขาตั้ง Target : HM 50 ลำโพงเซอร์ราวด์เป็น Concertino Home วางบนขาตั้ง JM Lab : L60 สูง 24 นิ้ว
สายลำโพง Supra : Sword / Nordost : Flatline Gold / Monster Cable : Z2R / Monster cable : MCX-2S คั่นด้วยบานาน่าปลั๊ก Monster : Power Connect 2
ซับวูฟเฟอร์ Velodyne : DD-10, CT-150 รองด้านใต้ด้วยทิปโท JJ หน้า 2 หลัง 1 โทอินเข้าหาจุดนั่งฟัง หลังเครื่องทับด้วยอิฐ VPI : db-5 สายไฟเอซี Acoustic Zen : CL3 (หัว / ท้าย Marinco แบบ Hospital Grade) เสียบเข้าปลั๊ก Wattgate : 381 (ตัวที่สอง-ช่องที่ 2)
สายสัญญาณซับวูฟเฟอร์ของ Monster Cable : MSB 550 SW ในตระกูล M Series เปลี่ยนตัว Y ของเดิมที่มี เป็นชุดสำเร็จรุ่น 401 XLN
เครื่องกรองไฟ Monster Power HTPS 7000 สายไฟเอซีติดตาย, PAC : Super Idos สายไฟเอซี Audio Power PL-313 เสียบเข้าที่กำแพงใช้เต้ารับ Wattgate 381 (ตัวแรก-ช่องที่ 1) ใช้ฝาครอบเต้ารับ FIM : 308-1
ห้องฟังมีขนาด 4 x 5 x 2.5 เมตร มีแผงดิฟฟิวเซอร์ 2 แผง ควบคุมสภาพอคูสติกห้องด้วย Room Tune 4 แท่ง / Echo Tune 4 อัน / Square Tune 1 อัน
การติดตั้ง และการเซ็ทอัพ
เมื่อ เป็นแท่นรอง ประกอบมาเสร็จ (ยกเว้นสไปค์) จึงทำแค่ใส่สไปค์ โดยปรับให้ความสูงอยู่ระดับกลาง ๆ ทั้งสไปค์ตัวล่าง และตัวบน เพราะยังไม่รู้สไตล์เสียง การปรับตรงกลางจะทำให้เสียงเป็นกลาง ไม่เอนเอียงทางใดเป็นพิเศษ หลังจากนั้นค่อยลองปรับให้เข้ากับความชอบ
การ ขันน๊อตสไปค์ เอาแค่ตึงมือ ไม่ต้องถึงกับหัวสั่นหัวคลอน เพราะส่งผลในเรื่องความตึงตัวของน้ำเสียง ถ้าขันแน่นเสียงจะบีบอัด เครียดแข็งได้ ถ้าหลวมไป เสียงก็อืด เฉื่อย
เมื่อ ใส่สไปค์เรียบร้อย ก็นำแผ่นไม้มาวาง แล้วจัดให้ได้ที่ จากนั้นหาที่วางที่เหมาะสม นำเครื่องมาวาง (ดูแล้วน่าจะรองรับได้ราว 30-40 กิโลกรัมสบาย ๆ) แล้วก็….ตาดูหูฟังได้แล้วครับ
ผลการลองชม
ดู ทดสอบระบบภาพจะใช้กับเครื่องเล่นดีวีดี หลายยี่ห้อ หลายน้ำหนัก ซึ่งนอกจะทดสอบระบบภาพได้แล้ว ยังทดสอบด้านเสียงได้ด้วย ซึ่งจะกล่าวในหัวข้อ “ผลการลองฟัง” ต่อไปครับ
ด้านสีสัน พบว่า แท่นรอง Master Stand Base : 2217 ช่วนผลักดันแม่สีหลัก ๆ ให้เข้มข้นขึ้นได้ ทำให้หนังเน้นสีอย่าง Sky High ดูจี๊ดจ๊าดจริง ๆ
ไฮไลต์ และการไล่แสงเงา ในแผ่น King Kong (โซน 3 NTSC) วัตถุแต่ละประเภทมีผิวด้าน หรือมันวาวก็เป็นไปตามนั้น หรือฉากมืดทึมของป่าทึบ ให้รายละเอียดในที่มืดได้ดี ไม่กลืนกัน แยกระดับสีดำได้ชัดเจนขึ้น ทรวดทรงตัวละครหลุดลอยมีมิติมากขึ้น ทำให้ภาพลอยออกมา ไม่จม
รายละเอียดภาพ เช่น พวกลายเสื้อ ลักษณะผิวหนัง หรือพื้นผิวของวัตถุต่าง ๆ มีความชัดเจนมากขึ้น The Fifth Element (โซน 3 NTSC) ฉบับฮ่องกง
หากเปรียบเทียบกับ Target สูง 5 ชั้นที่ผมใช้ประจำ โดยเมื่อวางบน Target จะ”ต่อ” ให้โดยใช้การวางบนชั้นที่ 2 จากพื้น ขณะที่เมื่อวางบนแท่นรอง Master Stand Base : 2217 จะอยู่ราวชั้นที่ 1 พบว่า แท่นรอง Master Stand Base : 2217 ยังให้การเกลี่ยโทนสีได้ไม่เนี๊ยบเท่า น้ำหนักอ่อนแก่ยังดูใกล้เคียงกันบ้าง การควบคุมแสงเงายังออกจะไม่ราบเรียบเท่า Target แต่ก็ไม่ห่างกันมาก ดูความต่างได้ลำบากพอสมควร แต่เมื่อคำนึงว่า แท่นรอง Master Stand Base : 2217 เป็นน้องใหม่ ไทยทำ ราคาไม่สูง คุณภาพมีกลิ่นไอของแบรนด์นอกยอดนิยมน่าจะพึงพอใจระดับหนึ่งแล้ว
ผลการลองฟัง
เวลาลองฟังในครั้งนี้ จะรองใต้เพาเวอร์แอมป์เป็นหลัก เครื่องเล่นดีวีดีใช้รองลงไป แอมป์ตัวใหญ่ที่สุดคือ NAD 208THX สูงเป็นคืบ วางได้สบาย ไม่ได้ยินเสียงโครงเหล็ก หรือเนื้อไม้ลั่นแม้แต่ครั้งเดียว สบายใจเรื่อง ความแข็งแรง มั่นคงได้ครับ
ความที่เป็นโครงสร้างเหล็ก ส่วนด้านบนเป็นไม้ แน่นอนว่า คุณภาพเสียงคงจะออกแนวชัดเจน คึกคัก เป็นหลัก ซึ่งเมื่อใช้งานจริง โดยรองใต้เพาเวอร์แอมป์ที่ใช้ขับลำโพงเซ็นเตอร์ พบว่า สุ้มเสียงทั้งหมดจะตึงขึ้น สว่างขึ้นเล็กน้อย โฟกัสเป็นตัวตนดีขึ้น เสียงจะหนักแน่นดีกว่าเดิม แต่ยังคงอยู่ในแนวเสียงเดิม ไม่ผิดรูปผิดร่างไปมาก เหมือนพวกกินยาบ้า ถ้าเป็นอย่างนั้น เสียงทั้งหมดจะถูกอัดฉีดอย่างรุนแรง แต่ไม่สามารถควบคุมได้ ทำให้เกิดอาการล้าหู คงนั่งดูนั่งฟังได้ ไม่เกิน 10 นาทีครับพี่น้อง…
เหมาะ กับโฮมเธียเตอร์มาก (ฟังเพลงก็ใช้ได้ แต่คงต้องเลือกจับคู่ซิสเต็มประกอบด้วย) คือ ส่วนมาก จะเน้นเสียงที่คมชัด เปิดเผย เพื่อเรียกร้องความสนใจ ถ้าวางบนชั้นวางที่อ่อนยวบ ตัวเครื่องจะถูกเขย่าจากคลื่นความถี่ต่ำ ทำให้เสียงไม่โฟกัสเท่าที่ควร หรือถ้าวางบนพื้นเลย เสียงจะจม ๆ ไม่หลุดลอยออกมาหาเรา เมื่อวางบนชั้น เสียงจะหลุดลอย สวิงตัวดีขึ้น ชิ้นดนตรีโฟกัสดีขึ้น แต่ความกังวานยังคงอยู่ ไม่เลือนหายไป ซึ่งบางครั้งชั้นวางทั่วไปที่เน้นความชัดเจน จะลดทอนความกังวาน หางเสียง บรรยากาศต่าง ๆ ลงไปมาก ยิ่งถูกบังคับด้วยราคาขาย ยิ่งชัดเจน คือ ต้องเลือกทางใดทางหนึ่ง จะไม่เหมือนกับของนอกอย่าง Target ที่เน้นความชัดเจน โดยที่ไม่ลดทอนความกังวานลงไปจนหายเกลี้ยง…นี่ละครับ ทีเด็ดที่ทำให้กลายเป็นชั้นวางยอดฮิต แต่แน่นอนว่า ราคาค่าตัวนั้นก็ไม่เบาเช่นกัน ยิ่งตอนนี้ ถึงกับไม่มีขายเลยทีเดียว
แหม ถ้าเขียนอย่างนี้ ก็แปลว่า นิยมของนอกเป็นสรณะกระนั้นหรือ…หามิได้ครับ ถึงแม้ผมจะตาดูดาว แต่เท้าก็ยังติดดิน ไม่ได้นิยมของนอกจนเข้าไส้ ถ้าเป็นอย่างนั้นก็ต้องเป็นอยู่เมืองนอกละครับ คงอยู่เมืองไทยไม่ได้แล้ว
ผมเองยังรอคอยสินค้าคุณภาพเยี่ยมของคนไทยอยู่เสมอ
สินค้า ไทยบางตัว เช่น แท่นรอง Hi-Fi Base (ซึ่งตอนนี้ ถ้าอยากได้คงต้องรอสักพัก เพราะอุบัติเหตุไฟไหม้บ้านเฮียหั่ง) คุณภาพดี เป็นที่ยอมรับแพร่หลายมาก แต่ราคาก็สูงเช่นกัน เกือบ 2 หมื่นต่อแท่น
ซึ่งจะว่าไป ราคาขายถึงมือนักเล่น ไม่เกิน 3 พันบาท สำหรับค่าตัว แท่นรอง Master Stand Base : 2217 ถือว่าสมเหตุสมผลแล้ว
ปลายแหลมของดนตรีซาวด์เอฟเฟกค์ต่าง ๆ ถาโถมออกมา ชัดเจน คุมตัวได้นิ่ง ไม่วูบวาบ จากหนังโปรดเรื่องล่าสุด The Fast and The Furious : Tokyo Drift (โซน 1 Dolby Digital 5.1)
การโดดเด่นที่เสียงกลาง ทำให้เสียงบทสนทนา ถ่ายทอดได้สะอาด ชัดเจน ไม่พร่ามัว โฟกัสดี แต่ไม่ขึ้นขอบแข็ง ย้ำหนักเบาได้ดี จาก Goals (โซน 3 Dolby Digital 5.1)
เสียงพากษ์ของช้าง ซึ่งมีทั้งมวลที่อิ่มหนา กับบอบบาง ไม่ว่าจะเป็นช้างตัวผู้หรือช้างตัวเมีย ให้ความแตกต่างได้ดี ก้านกล้วย (โซน 3 dts 5.1)
ความถี่ต่ำ ถ่ายทอดน้ำหนักเสียงได้ดี มีพละกำลังพอเหมาะ มีความถูกต้องมี ไม่ใช่เอาแต่แน่น ๆ หนัก ๆ ตลอด ขึ้นอยู่กับแผ่น อย่าง Sky High (โซน 3 Dolby Digital 5.1)เบสมีความหนักแน่นพอประมาณ ไม่บางราวแผ่นกระดาษ แต่ก็หาใช่มหึมาแบบการตอกเสาเข็มทุกครั้ง
ไดนามิค นำเสนอชิ้นงานได้อย่างรุนแรง กระแทกกระทั้น ไม่มีการตื้นอั้น ในฉากการต่อสู้ระหว่างคองกับไดโนเสาร์ King Kong (โซน 3 Dolby Digital 5.1)
โฟกัสชิ้นดนตรี หัวโน้ต มีความชัดเจน โดดเด่นมากขึ้น ติดตามการเกิด และจางหายของเสียงได้ตลอด The Fast and The Furious (โซน 1 dts 5.1)
บรรยากาศโอบล้อม และการแพนทิศทางมีความถูกต้อง สอดคล้องกับภาพอย่างยิ่ง ตรึงตำแหน่งชิ้นดนตรีได้ชัดเจน ไม่วูบวาบ King Kong (โซน 3 Dolby Digital 5.1)
มิติเวทีเสียง ดูสมดุลย์ดี วงกว้าง แผ่ลอยออก ชิ้นดนตรีทำได้นิ่งสนิท ไม่วูบวาบไปมา ตรึงตำแหน่งได้ดี ชิ้นไหนอยู่ไกล ชิ้นไหนอยู่ใกล้รับรู้ได้ดี ทำให้ได้อรรถรสของหนังและเพลงได้มากขึ้น แถมอัดได้เต็มที่ ถ้าเครื่องรับไหว ไม่ต้องกลัวว่าเสียงจะอ่อนไหว ดังไม้ต้องลม เพราะ แท่นรอง Master Stand Base : 2217 มีการออกแบบโดยการใช้สไปค์ ถึง 2 จุด คือ จุดแรก (เอาด้านแหลมชี้ขึ้นฟ้า) เพื่อรองใต้แผ่นไม้ ไม่ให้ความถี่ในการสั่นจากพื้นห้องขึ้นไปสู่ตัวเครื่อง และจุดที่ 2 (เอาด้านแหลมชี้ลงดินแบบปกติ) รองใต้ฐานเหล็ก เพื่อให้เครื่องที่วางบนแท่นรอง Master Stand Base : 2217 และตัวแท่นรอง Master Stand Base : 2217 เอง มีจุดสัมผัสพื้นน้อยที่สุด ส่งผลให้ปลอดจากแรงสั่นสะเทือนที่สุด
นอกจากนี้ สไปค์ที่ทำจากทองเหลืองกลึง ใช้มากถึง 8 จุด คือ ใต้แผ่นไม้ 4 จุด และใต้ขาเหล็ก 4 จุด ช่วยกระจายน้ำหนักให้เป็นไปอย่างมั่นคง และออกแบบให้ปรับเกลียวสูงต่ำได้ตามชอบ ถ้าปรับต่ำ ดุลเสียงจะอวบอิ่ม มีน้ำมีเนื้อ ถ้าปรับสไปค์ค่อนข้างสูง น้ำเสียงจะบางลง เน้นความสว่างสดใส ซึ่งทำให้เราปรับจูนเสียงได้ตามชอบ โดยอาจจะขึ้นกับตัวเครื่องที่จะนำมาวางว่าโทนเสียงอยู่ทางใด และตัวผู้ใช้งานเองว่าชอบแนวเสียงใดเป็นหลัก สดใส กระจ่าย หรืออิ่มเอิบ มีน้ำหนัก
เรียกว่า ยังมีหนทางปรับจูนเสียงได้ด้วยตนเอง ให้เหมาะสมกับเครื่องอย่างที่สุด ไม่ใช่ใส่แล้วใส่เลย เสียงโดยรวมจะเป็นอย่างไรก็ต้องปล่อยเลยตามเลย ทำให้ในจุดนี้ แท่นรอง Master Stand Base : 2217 สามารถใช้งานกับเครื่องได้หลากหลาย
และประโยชน์อีกประการของสไปค์ที่ปรับได้ คือ ทำให้สามารถตั้งเครื่องให้ได้ระดับน้ำมากที่สุด กับแอมป์ที่ไม่มีส่วนเคลื่อนไหว อาจให้ผลไม่ชัดเจน แต่ถ้าเป็นเครื่องเล่นดีวีดี ซีดี จะช่วยให้แสงเลเซอร์ทำมุมตรงกับข้อมูลในแผ่นมากที่สุด เสียงจึงมีความสมบูรณ์แบบยิ่งขึ้น
หากเปรียบเทียบกับ Target สูง 5 ชั้นที่ผมใช้ประจำ โดยเมื่อวางบน Target จะ”ต่อ” ให้โดยใช้การวางบนชั้นที่ 2 จากพื้น ขณะที่เมื่อวางบนแท่นรอง Master Stand Base : 2217 จะอยู่ราวชั้นที่ 1 พบว่า แท่นรอง Master Stand Base : 2217 ดุลเสียงแหลมจะคมแข็งกว่าบ้าง ความกังวานจะดูห้วนกว่า ไดนามิคดังค่อยขณะที่หนังเล่นพร้อม ๆ กันจะยังแยกไม่เด็ดขาด ระดับเสียงยังไม่ต่างกันเหมือน Target รวมถึงเรื่องโฟกัส ความต่อเนื่องด้วยเช่นกัน แต่ความต่างนั้น ไม่ได้มากมายแบบทิ้งกันขาด
คงไม่ใช่ความผิดของ แท่นรอง Master Stand Base : 2217 เพียงแต่เจอคู่แข่งในการประกบที่ถือเป็นกระดูกชิ้นใหญ่ เหมือนภูผาหินสูงตระหง่าน การข้ามผ่านไปคงไม่ใช่ง่าย แต่อยู่ที่การรักษาช่องว่างของเสียงที่ต้องไม่ห่างชั้นกันเกินไปมากกว่า และแท่นรอง Master Stand Base : 2217 ก็ทำได้เข้าท่าทีเดียว
บทสรุป
แท่น รอง Master Stand Base : 2217 ถือเป็นผลิตภัณฑ์ของคนไทย ผ่านการปรับจูนเสียงมาอย่างลงตัว มีกลิ่นไอของยี่ห้อยอดนิยมระดับตำนาน มีความแข็งแรงสูง รองรับเครื่องที่หนักค่อนข้างมากได้ดี สามารถปรับจูนเสียงได้ตามชอบ ราคาไม่สูงนัก
ขอกล่าวสั้น ๆ ว่า ท่านใดเน้นดูหนังเป็นสรณะ น่าจะหาไว้รองใต้เอ / วี รีฟเวอร์ตัวเก่ง จะดูหนังได้อรรถรสขึ้นอีกระดับแน่นอนครับ
หมายเหตุ :
ขอขอบคุณ ตั้ม Stand ที่ได้อนุเคราะห์ให้ยืมแท่นรอง
ติดต่อ HiFiForYou
ตั้ม Stand
โทร 081-621-8484
Website www.hififoryou.com